APICHART.jpgภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและการป้องกัน
รศ.นพ.อภิชาติ นานา



ในที่สุดลูกคนเก่งของคุณก็เป็นโรคหัวใจจนได้ แต่ไม่ต้องเสียใจมากเกินไปครับ เพราะปัจจุบัน โรคหัวใจหลายต่อหลายชนิดสามารถรักษา โดยการผ่าตัดจนหายขาดได้ และอีกหลายชนิด สามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ด้วยยาและการผ่าตัดเช่นกัน จนทำให้อย่างน้อยคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นมาก เรียกได้ว่ายังเป็นโรคหัวใจอยู่ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติเหมือนกัน หรือมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด เช่น อาจเป็นผนังหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบ แต่เป็นไม่มากหรือไม่รุนแรง เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติไปตลอดชีวิต โดยไม่ต้องรักษาหรือกินยาแต่อย่างใด เรียกว่าเป็นโรคหัวใจก็เป็นไป แต่ก็อยู่ต่อไปอย่างเป็นปกติโดยไม่ทุกข์ร้อนอะไร อย่างไรก็ดีมีเด็กบางคนที่เกิดมาเป็นโรคหัวใจที่ไม่รุนแรงเลย แต่อาจเสียชีวิตหรือพิการก่อนเวลาอันควร เนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจกันดีกว่า (เพราะไหนไหนลูกของเราก็เป็นโรคหัวใจแล้ว) ว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง และควรจะป้องกันได้อย่างไร

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจในที่นี้หมายถึง ภาวะการเกิดโรค หรือความผิดปกติ ที่เกิดตามมาจากผลของการเป็นโรคหัวใจนั้นๆ บางอย่างสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ และบางอย่างไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราก็ควรเข้าใจ และสามารถรู้ได้เร็วว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว รีบไปรักษาเสียก่อนที่จะปล่อยมันจนเป็นมาก เรียกว่ากว่าจะรู้ก็เป็นมากแล้วทำนองนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจที่สามารถป้องกัน

1. การติดเชื้อภายในหัวใจ

การติดเชื้อภายในหัวใจ ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดมีบาดแผล เป็นหนอง เป็นฝี ี ฟันผุ ุ เหล่านี้ อาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ตามแผลเหล่านั้นเข้าสู่กระแสเลือด และไหลเข้าไปในในหัวใจ ภายในหัวใจซึ่งมีความผิดปกติอยู่แล้ว เช่น มีการตีบ หรือรั่วของลิ้นหัวใจ หรือผนังหัวใจเป็นผลให้การไหลของเลือดภายในหัวใจไม่สม่ำเสมอ อาจเกิดการหมุนวน หรือไหลเร็วแรงผิดปกติ เกิดเป็นจุดอ่อนแอขึ้นที่ผนังส่วนนั้น เปรียบได้กับกระแสน้ำที่ไหลกระทบเกาะแก่งหินต่างๆ ย่อมแตกกระเซ็นและหมุนวน ง่ายต่อการที่เชื้อโรคเหล่านั้นจะเข้าไปเกาะติดอยู่ผนังเนื้อเยื่อมาก จากนั้นเชื้อโรคก็จะพากันเจริญเติบโตงอกงาม แล้วช่วยกันทำลายเจ้าของบ้าน ( ตามธรรมเนียมแขกที่ดี ) มีการทำลายส่วนของหัวใจบริเวณนั้น ทำให้รูรั่วใหญ่ขึ้น หรือลิ้นรั่ว มากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เด็กจะเกิดอาการไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ถ้าเป็นมากขึ้นอาจมีอาการหัวใจวาย เหนื่อยง่ายมากขึ้น จึงควรรีบพาไปพบแพทย์เสียโดยเร็ว เมื่อเด็กที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เกิดมีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมร่วมกับอาการมีไข้เรื้อรังร่วมด้วย

2. การเกิดความดันภายในปอดสูงขึ้น

การเกิดความดันภายในปอดสูงขึ้น พบในเด็กโรคหัวใจชนิดที่มีการไหลเวียนของเลือดกลับเข้าปอดมากกว่าปกติ (มากกว่าปริมาณเลือดที่ออกไปเลี้ยงร่างกาย) เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้นานๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่ผนังของหลอดเลือดเล็กๆในปอด มีการหนาตัวขึ้นทำให้ขนาดหลอดเลือดแคบลง ยิ่งเกิดความต้านทานต่อการไหลผ่านของเลือด ยิ่งทำให้ความดันโลหิตในปอดเพิ่มขึ้นอีก เมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร จนไม่สามารถกลับเป็นปกติได้อีก เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ก็ไม่มีการผ่าตัดรักษาใดๆ จะช่วยได้อีก นอกจากจะหาปอดและหัวใจพวงใหม่มาใส่แทน โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงแบบนี้มักจะยังไม่เกิดในภายใน 1-2 ปีแรก ดังนั้น เมื่อคุณหมอที่ดูแลโรคหัวใจแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาเสีย ก็รีบปฏิบัติตามเถอะครับ อย่าคิดว่าลูกของเราก็ยังเล็กกำลังอาจยังไม่พอ เพราะโรคหัวใจบางชนิดก็ต้องทำการผ่าตัดรักษากันตั้งแต่ภายในอายุ 1 เดือนแรก มิฉะนั้นเด็กคนนั้นก็จะบ๊ายบายไปขอเกิดใหม่เป็นลูกคนอื่นดีกว่า

3. การเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจตามมา

การเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจตามมา เริ่มต้นจากลูกของเรา (อีกแล้ว) ที่เป็นผนังหัวใจรั่วอยู่ขนาดไม่ใหญ่ ไม่มีอาการอะไรผิดปกติ อยู่ๆก็อาจเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจที่อยู่ใกล้กับรูรั่วนั้นแถมมาอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เรียกว่าซื้อหนึ่งแถมหนึ่งทำนองนั้น เปรียบได้กับบ้านเราซึ่งมีรูโหว่อยู่ที่ผนังห้องใกล้ฝ้าเพดาน วันดีคืนดีทั้งฝ้าเพดาน พื้นและประตูห้องชั้นบนก็ทรุดตามลงมา อันนี้คุณหมอที่ดูแลเราอยู่ จะพอบอกได้ว่าโรคหัวใจแบบไหน จะมีของแถมแบบนี้ บางครั้งแม้ว่าเด็กอาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร คุณหมอ (ของเรา) ก็อาจจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษา ก็ยอมๆแกไปเถอะครับ คิดเสียว่าสังขารนี้มิใช่ของเรา (จริงๆ ก็ไม่ใช่เพราะเป็นของลูกเราต่างหาก)

4. การเกิดเป็นฝีในสมอง

การเกิดเป็นฝีในสมอง อันนี้พบในเด็ก (ไม่ใช่ลูกของเรา) ที่เป็นโรคหัวใจชนิดเขียวเท่านั้น โดยอยู่ๆก็เกิดมีไข้เป็นๆหายๆปวดศีรษะ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง และอื่นๆอีกมากมาย เมื่อพาเด็กไปพบคุณหมอ (ตามธรรมเนียม) คุณหมอตีหน้าเครียดบอกว่าลูกคุณเป็นฝีในสมองครับ (เอาอีกแล้ว) ทั่งนี้ก็เพราะในคนปกตินั้น เมื่อมีแผล ฟันผุ หูน้ำหนวก เกิดการติดเชื้อ เชื้อโรคเหล่านี้ก็หลุดเข้าไปในกระแสเลือดดำ เข้าสู่หัวใจ และไปที่ปอด ที่ปอดจะมีเซลล์ที่คอยกิน และทำลายเชื้อพวกนี้ ไม่ให้เล็ดลอดเข้ากระแสเลือดแดงที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย ก็เลยไม่เกิดปัญหา แต่ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจชนิดเขียวนั้นจะมีทางติดต่อในหัวใจ ทำให้เลือดดำสามารถไปปนกับเลือดแดงได้เลย ก็ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้ผ่านหัวใจไปสู่ส่วนอื่นร่างกายเลย โดยไม่ต้องไปปอดก่อน ถ้าบังเอิญเชื้อโรคไปอยู่ที่สมอง ก็เลยเกิดปัญหาเป็นฝีในสมองขึ้น ปัญหานี้อาจพอป้องกันได้คล้ายกับกรณีการติดเชื้อในหัวใจเหมือนกัน โดยคอยระวังรักษาเมื่อมีอาการติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจที่ไม่สามารถป้องกันได้

1. หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นเร็วมาก ช้ามาก หรือหยุดเต้นไปเลย โชคดีที่อันหลังนี้พบได้น้อยมาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบการเต้นของหัวใจเอง ปกติหัวใจเราจะเต้นได้จากการมีตัวให้สัญญาณจากนั้นก็มีการส่งต่อสัญญาณนี้ไปยังส่วนต่างๆของหัวใจ เพื่อให้การเต้นของหัวใจเป็นจังหวะก่อนหลัง เพื่อการไหลเวียนเลือดที่ต่อเนื่องคล้ายกับมีสายไฟฟ้า ที่รับสัญญาณมาจากโรงงานผลิตไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง ถ้าสัญญาณช้าหัวใจก็เต้นช้า ถ้าตัวส่งสัญญาณผิดปกติ หรือทางเดินไฟฟ้าผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติในโครงสร้างของหัวใจเองมาตั้งแต่เกิด หรือทางเดินไฟฟ้าถูกตัดขาดจากการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจอื่นๆ การเต้นของหัวใจก็ผิดปกติ จึงอาจพบได้ทั้งก่อนและภายหลังการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจทั่วๆไป อาการที่พบในเด็กเล็กอาจร้องกวน งอแงไม่ยอมนอน หรือปลอบไม่เงียบ หรืออาการใจเต้นใจสั่นในเด็กโต อาการเป็นลมหน้ามืดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อาจชักหรือหมดสติไปเลยก็ได้

2. อาการไอเป็นเลือด

อาการไอเป็นเลือด ฟังดูน่ากลัวคล้ายกับเป็นวัณโรคอะไรทำนองนั้น แต่ที่จริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลย อาการนี้จะพบเฉพาะโรคหัวใจชนิดเขียว และเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยเวลาไอบางครั้งมักมีเลือดปนกับเสมหะออกมา น้อยครั้งที่จะไอเป็นเลือดสดๆ ขนาดถึงกับต้องให้เลือดกันเกิดได้จากการที่มีเส้นเลือดฝอยในปอดแตก เนื่องจากการที่หลอดเลือดแดงที่ปอดจะพยายามขยายตัวให้พองใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนเลือดที่ไปฟอกที่ปอดให้เพียงพอ เส้นเลือดพวกนี้มักจะขยายใหญ่ และคดเคี้ยวไปมา มีผนังบางลงจนอาจแตกออกมาได้ ถ้าสามารถรักษาต้นเหตุของโรคหัวใจชนิดนั้นได้ อาการนี้ก็จะหายไป หรือถ้าได้รับการผ่าตัดโรคหัวใจในเวลาที่เหมาะสม ก็อาจไม่เกิดภาวะนี้ขึ้นเลย

3. หลอดเลือดในสมองอุดตัน

หลอดเลือดในสมองอุดตัน หรือสมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง อันนี้ก็อย่าเป็นลูกของเราเลย เพราะฟังดูน่ากลัวอีกเหมือนกัน พบเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคหัวใจชนิดเขียว และมักเป็นเด็กเล็กๆ 2-3 ปีแรก มีอาการแขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยวหรือหลับตาไม่สนิท อาจเกิดจากภาวะโลหิตจางเกินไป หรือเลือดข้นมากเกินไปจนอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กบางส่วนของสมอง การเอาใจใส่ดูแลไปหาคุณหมอ รับยาตามสั่งอย่างสม่ำเสมอก็อาจพอช่วยป้องกันได้บ้าง

4. อาการเป็นลมตัวอ่อน

อาการเป็นลมตัวอ่อน หรือหมดสติไปชั่วครู่ พบเฉพาะในเด็กโรคหัวใจชนิดเขียวเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีเลือดไปฟอกที่ปอดได้น้อยผิดปกติ ลูกของเรา ( อีกแล้ว) อยู่ๆ ก็อาจจะมีอาการตัวอ่อนนิ่งไปเฉยๆ หรือมีอาการร้องงอแง ปลอบอย่างไรก็ไม่เงียบ ลูกไม้ต่างๆ ที่เคยใช้ได้ผลก็ไม่สำเร็จ ครางนี้เด็กจะดูเขียวมากข้น หายใจหอบลึก ถ้าเป็นอยู่นานอาจหมดสติไปเลย โดยทั่วไปอาการเหล่านี้มักจะหายได้เองในเวลาไม่กี่นาที แต่ถ้าเป็นอยู่นานเกิน 10 นาที ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ดมอ๊อกซิเจนและอาจใช้ยา อาการก็จะดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยเขาได้บ้างเมื่อมีอาการนี้ โดยใช้มือจับเข่า ( ของลูก) สองข้างงอเข้าชิดหน้าอก ก็จะทำให้อาการนี้หายเร็วขึ้น อาการนี้มักพบในเด็กเล็ก 1-3 ขวบปีแรก มักเกิดในตอนเช้าหลังตื่นนอน ถ้าเกิดอาการเช่นนี้ก็ควรไปพบคุณหมอที่เคยดูอยู่ เพราะการให้รับประทานยาบางอย่างก็อาจช่วยลดอาการนี้ลงได้ หรือบางรายก็อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจเร็วขึ้น

การป้องกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่น่ากลัว และไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยแค่เป็นโรคหัวใจก็ลำบากพอแล้ว ทำไมจะต้องมาเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นอีก เรียกว่าโรคซ้ำกรรมซัดก็ว่าได้ เราจะเลี้ยงลูกของเราอย่างไรดีให้เป็นแค่โรคหัวใจเฉยๆ อย่างเดียวก็พอแล้ว

การพาเด็กโรคหัวใจไปหาคุณหมอตามนัดก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากกการติดตามการดำเนินของโรคแล้ว ในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออาการใหม่ๆก็จะได้รับการแก้ไขด้วย และเมื่อถึงเวลาอันควร คุณหมอก็จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษา เพื่อโรคจะได้หายขาด อันนี้ก็รีบตอบตกลงไปเลยเถอะครับ เพราะปัจจุบันนี้คุณหมอรักษาโรคหัวใจเด็กว่าหายากแล้ว แต่คุณหมอผ่าตัดโรคหัวใจเด็กยิ่งหายากกว่าอีกหลายเท่า มีไม่กี่โรงพยาบาลเท่านั้นที่ทำได้ (เวรกรรมอะไรอย่างนี้ก็ไม่รูู้้)

การพาเด็กไปหาคุณหมอนั้นก็เหมือนกับเอาทีวี ไปให้ช่างซ่อม แต่การซ่อมทีวี นั้นอย่างไรเสียก็ยังรื้อดูหาสาเหตุได้ แต่การตรวจเด็กนั้นคงจะเข้าไปรื้อค้นไม่ได้ อย่าว่าแต่ภายในเลยครับ บางคนภายนอกยังไม่ยอมให้ตรวจเลย เหมือนกับเกิดมาเพื่อร้องและดิ้นอย่างเดียว ( เวลาพบหน้าคุณหมอ)

ดังนั้นการเล่าประวัติ อาการต่างๆ โดยคุณพ่อคุณแม่ที่ละเอียด จะช่วยการตรวจและวินิจฉัยโรคได้มาก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และหายเร็วอีกด้วย

เด็กที่เป็นโรคหัวใจชนิดเขียวนั้น ไม่ควรปล่อยให้ร้องติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรรีบหาสาเหตุที่เด็กร้อง เช่นหิว เปียกแฉะไม่สบายตัวหรืออยากให้อุ้มกอดไว้ เพราะถ้าปล่อยให้ร้องติดต่อกันนานๆ อาการเขียวจะเป็นมากขึ้น เกิดเพราะเลือดดำไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น ทำให้ร่างกายโดยเฉพาะสมองขาดออกซิเจนมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการเป็นลมตัวอ่อน หรือหมดสติได้ จึงควรรีบปลอบให้นิ่งโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ในเด็กเล็กที่มีอาการเต้นของหัวใจผิดปกติ เช่น เร็วเกินไป ก็จะแสดงอาการโดยการร้องตลอดเวลาปลอบเท่าไรก็ไม่นิ่ง ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคหัวใจ หากร้องติดต่อกันนานๆไม่ยอมหยุด ควรรีบพาไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุโดยเร็ว

ยาไม่ใช่ขนม ( แม้บางอย่างดูคล้ายเม็ดช็อกโกแลตเคลือบสียี่ห้อดัง ) ที่วันไหนอยากกินก็หยิบมากิน โดยเฉพาะยาโรคหัวใจหลายอย่างต้องการผลและระดับยาต่อเนื่องจึงได้ผลดีที่สุด มิฉะนั้นอาจทำให้อาการโรคอาจเป็นใหม่ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หากกินยาไม่ต่อเนื่องหรือสม่ำเสมอ โดยทั่วไปยาที่คุณหมอสั่งนั้นควรกินได้พอจนถึงคราว ที่จะต้องไปพบครั้งต่อไปแต่ถ้าบังเอิญยาไม่พอ เกิดหมดก่อน จะด้วยเหตุใดก็ตาม ควรขวนขวายหายากินต่อไปจนถึงกำหนดนัด โดยกลับไปพบคุณหมออีกครั้ง หรือถ้าอยู่ไกลอาจนำยาหรือซองยาไปพบคุณหมอใกล้บ้านช่วยดูหรือสั่งให้ใหม่
เด็กที่เป็นโรคหัวใจชนิดต่างๆ ถ้าได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างดี ก็สามารถปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน (ที่น่ากลัว) ทั้งปวง สามารถมีชีวิตอยู่อย่างเป็นปกติสุขไปตลอด หรือจนกระทั่งถึงกำหนดผ่าตัดรักษาจนหายเป็นปกติในที่สุด