การทำงานของหัวใจปกติ
นพ.ธนกฤต ตะรุโณทัย


  หัวใจตั้งอยู่ในทรวงอกด้านซ้าย ขนาบข้างด้วยปอดทั้งสองข้าง มีขนาดประมาณเท่ากับกำปั้นมือของผู้ที่เป็นเจ้าของ หัวใจประกอบด้วยห้อง 4 ห้อง มีผนังกั้นห้องระหว่างด้ายซ้ายและด้านขวา ส่วนห้องบนและห้องล่างถูกกั้นแบ่งด้วยลิ้นหัวใจสองลิ้นซึ่งทำหน้าที่เป็นประตูคอยเปิดปิดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ หัวใจห้องบน 2 ห้องเป็นส่วนที่รับเลือดเข้าสู่หัวใจ หัวใจห้องล่าง 2 ห้องเป็นส่วนที่สูบฉีดเลือดออกจากหัวใจ เลือดในห้องหัวใจทางซ้ายจะเป็นเลือดแดง และห้องทางขวาจะเป็นเลือดดำ



หัวใจจะทำงานตลอดเวลาที่คนเรามีชีวิตอยู่ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เลือดที่ร่างกายใช้ออกซิเจนแล้วจะเป็นเลือดดำ เลือดดำจะไหลเข้าสู่หัวใจทางห้องบนขวา(เอเตรียมขวา, RA) แล้วไหลลงสู่ห้องล่างขวา(เวนตริเคิลขวา, RV)โดยผ่านลิ้นหัวใจที่มี 3 กลีบ(ลิ้นไตรคัสปิด) ห้องล่างขวานี้จะบีบตัวส่งเลือดไปยังปอด โดยผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี่ (PA) ไปยังปอดทั้งสองข้าง เลือดดำจะได้รับการฟอกที่ปอด โดยการรับออกซิเจนและปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์ กาซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกขจัดออกทางปอดโดยการหายใจ เลือดดำที่ได้รับออกซิเจนจะเปลี่ยนเป็นเลือดแดง ไหลกลับสู่หัวใจทางห้องบนซ้าย(เอเตรียมซ้าย, LA) และผ่านลงห้องล่างซ้าย(เวนตริเคิลซ้าย, LV) โดยผ่านลิ้นหัวใจที่มี 2 กลีบ(ลิ้นไมตรัล) หัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกายผ่านทางลิ้นเอออร์ติค ออกสู่เส้นเลือดแดงใหญ่(เอออร์ต้า, Aorta) เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายจะได้รับออกซิเจนจากเลือดแดงที่ไปเลี้ยง เมื่อเลือดแดงให้ออกซิเจนกับเนื้อเยื่อแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นเลือดดำ ไหลกลับสู่หัวใจทางห้องบนขวา เป็นวงจรการไหลเวียนอัตโนมัติ ดำเนินอยู่ตลอดเวลาที่ร่างกายมีชีวิตอยู่



ปริมาณเลือดแดงที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย ขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดที่หัวใจบีบตัวแต่ละครั้งและอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจนั้นจะเป็นชีพจรที่เราสัมผัสนับได้ โดยปกติ ชีพจรที่เร็วขึ้น จะทำให้มีปริมาณเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆมากขึ้น ค่าปกติของชีพจรในคนจะมีค่าแตกต่างกันตามอายุของคนๆนั้น ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงอัตราการเต้นของหัวใจคนเทียบกับอายุ


ช่วงอายุ อัตราหัวใจเต้น ครั้งต่อนาที
แรกเกิด 110 - 150
2 ปี 85 - 125
4 ปี 75 - 115
6 ปี 65 - 100
6 ปี ขึ้นไป 60 - 100

 


การทำงานของหัวใจกับการออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายมีการใช้ออกซิเจนมากขึ้น เนื้อเยื่อต้องการปริมาณออกซิเจนมากขึ้น มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว และหายใจเร็วขึ้น เพื่อฟอกเลือดดำ และสูบฉีดเลือดแดงตอบสนองไปยังกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆที่ต้องการอาหารและออกซิเจนมากขึ้น

การตอบสนองของหัวใจในขณะออกกำลังกายจะเกิดขึ้นทันที และจะใช้เวลาหลายนาทีจึงจะคงที่ โดยที่ร่างกายจะมีการตอบสนอง 2 ประการคือ จากระบบประสาทที่มีการกระตุ้นต่อหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง และจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยในกล้ามเนื้อที่ออกกำลัง ผ่านทางสารที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ การกระตุ้นของระบบประสาท จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และมีการควบคุมปริมาณเลือดไปยังกล้ามเนื้อที่ออกกำลังมากขึ้น โดยที่เลือดที่ไปเลี้ยงส่วนสมอง ไต และช่องท้อง จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

การเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนมากขึ้น สามารถทำงานได้มากขึ้น การออกกำลังกายทำให้ระบบเส้นเลือดดำมีการนำเลือดกลับสู่หัวใจมากขึ้นด้วย จึงทำให้ของเสียที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อได้รับการถ่ายเทออกจากกล้ามเนื้อ เป็นการเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น

การออกกำลังกายที่เหมาะสม และสม่ำเสมอเพิ่มมากขึ้นตามขั้นตอน จะเป็นการช่วยลดความต้านทานของหลอดเลือด เลือดจะไหลเวียนได้สะดวก ทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจและร่างกายดีขึ้น