สุขภาพปากและฟันกับโรคหัวใจ
นาวาอากาศโท เกรียงศักดิ์ อนุโรจน์

โรคหัวใจ สามารถแบ่งตามลักษณะของการเกิดโรคได้ดังนี้ คือ ประเภทเป็นโรคหัวใจมาแต่กำเนิด และประเภทเป็นโรคหัวใจภายหลัง ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือไม่มีอาการใดๆปรากฏ โดยที่ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิดไ ม่สามารถทราบได้เลยว่า เด็กนั้นเป็นโรคหัวใจ แต่จะมารับทราบจากแพทย์เมื่อพาเด็กมาตรวจด้วยโรคหวัด หรือโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจประเภทที่มีอาการเด่นชัด รู้ว่าเด็กนั้นเป็นโรคหัวใจแน่นอน หรือในรายที่รู้ทีหลังว่าเป็นโรคหัวใจ จากการตรวจพบของแพทย์โดยบังเอิญก็ตาม การดูแลสุขภาพปากและฟันของเด็กกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ช่องปาก (oral cavity)

ปาก เป็นช่องทางผ่านของอาหาร ในขณะเดียวกันก็เป็นที่ซุกซ่อน ฝักตัว ของเชื้อโรคหลายชนิด ที่สำคัญคือ เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตร็บโตคอคไค เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักฝังตัวอยู่บริเวณซอกฟัน ช่องฟันที่ผุ และเยื่อบุในช่องปากทั่วๆ ไป ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ โดยที่เชื้อสเตร็บโตคอคไคนี้ เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำและไม่ทำให้เกิดอาการหรือผลกระทบใดๆ ในคนปกติ
เชื้อโรคในปากเหล่านี้อาจแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จาก การแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี การได้รับการถอนฟัน หรือการตัดต่อมทอนซิล เป็นต้น เมื่อเชื้อสเตร็บโตคอคไคนี้เข้าสู่กระแสโลหิตจะผ่านเข้าไปถึงหัวใจ ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและมีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณหัวใจ เช่น มีการไหลกระแทกของโลหิตผิดปกติ เกิดเป็นผนังหัวใจที่ขรุขระและเกิดปฏิกิริยาการจับตัวของเกร็ดเลือด โดยมีเชื้อสเตร็บโตคอคไคนี้ผสมเข้าไปด้วย ทำให้เกิดเป็นก้อนติดเชื้อบริเวณหัวใจขึ้น

ก้อนติดเชื้อ จะประกอบไปด้วย
• ขั้นในเป็นเยื่อบุ
• ชั้นกลางเป็นเชื้อโรค
• ชั้นนอกสุดเป็นเม็ดเลือดขาว และใยบาง ๆ ห่อหุ้ม

ก้อนติดเชื้อนี้จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ โดยจะมีการกระจายของเชื้อสเตร็บโตคอคไคไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ไต ม้าม สมอง และยังอาจทำให้ผนังหัวใจส่วนที่บางทะลุได้ .้ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมามากมาย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาด้านภูมิต้านทานของร่างกายได้อีกด้วย

การดูแลสุขภาพปาก
ในเด็กเล็กที่ฟันยังไม่ขึ้น กระทำได้โดยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดบริเวณ เหงือก เยื่อบุปาก ลิ้น ทุกวัน ในช่วงเช้าและก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อขาว ๆ (ซางขาว) ซึ่งจะเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ภายหลังการดูดนมทุกครั้งควรให้เด็กดูดน้ำตามมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมมารดา หรือนมขวด

ในเด็กที่ฟันขึ้นแล้ว ผู้ปกครองควรทำความสะอาดช่องปากและฟันด้วยแปรงสี .ฟันที่มีขนาดพอเหมาะ (ตามอายุเด็ก) ขนแปรงควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และควรเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากในเด็กเล็กขณะแปรงฟันมักชอบกลืนยาสีฟันเข้าไปด้วย ในยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่มักผสมฟลูออไรด์ในขนาดที่เกิน

ในเด็กที่ฟันขึ้นแล้ว ผู้ปกครองควรทำความสะอาดช่องปากและฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนาดพอเหมาะ (ตามอายุเด็ก) ขนแปรงควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และควรเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากในเด็กเล็กขณะแปรงฟันมักชอบกลืนยาสีฟันเข้าไปด้วย ในยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่มักผสมฟลูออไรด์ในขนาดที่เกินความต้องการของเด็ก ถ้าเด็กกลืนยาสีฟันเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาจเกิดภาวะพิษจากฟลูออไรด์ได้ นอกจากนี้ควรให้ดูดน้ำตามมาก ๆ ภายหลังการดูดนม ในกรณีที่เด็กดูดนมขวดควรรีบหย่าขวดนมโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการติดนมขวดโดยเฉพาะการดูดนมขวดก่อนนอน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่กระจายของเชื้อในช่องปาก เนื่องจากเด็กมักดูดนมจนหลับคาขวดนม ทำให้ไม่สามารถดื่มน้ำตามภายหลังได้ ควรเปลี่ยนมาเป็นให้เด็กดื่มนมจากแก้ว และให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ ภายหลังการดี่มนม และบ้วนปากทุกครั้ง

การแปรงฟันอย่างถูกวิธี

การแปรงฟันอย่างถูกวิธีกระทำได้โดย การให้แปรงที่มีขนาดพอเหมาะ ขนแปรงอ่อนนุ่ม วิธีแปรงโดยใช้ปลายขนแปรงทาบกับฟัน แล้วกดขยับขึ้นและลงให้ทั่วปาก เพื่อรูดเอาสิ่งสกปรกที่ฟันและร่องฟันออกมา และควรแปรงสีฟันทุกครั้งเมื่อขนแปรงผิดรูป

ข้อควรระวัง

ในเด็กที่ฟันผุหรือรากฟันอักเสบอยู่แล้ว การแปรงฟัน ควรกระทำด้วยเบามือ และใช้ขนแปรงที่มีความอ่อนนุ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันเลือดออก ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย

ในกรณีที่ต้องทำฟัน หรือให้แพทย์รักษาโรคในช่องปาก ผู้ปกครองหรือเด็กควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคหัวใจ เพื่อแพทย์จะได้ให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคในช่องปากตามความเหมาะสม

สำหรับผู้ปกครองที่สงสัยว่า บุตรหลานของตนที่เป็นโรคหัวใจ อาจมีภาวะแทรกซ้อนก้อนติดเชื้อในหัวใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์

สรุป

สุขภาพของปากและฟันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคหัวใจที่ไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อสุขภาพปากและฟันไม่ดี ี เชื้อโรคในปากอาจแทรกซึมเข้ากระแสโลหิต และเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้