pongsak.jpgเลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดโรคหัวใจ
รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์



โรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้ป่วยเป็นอย่างไร


ในปัจจุบัน อุบัติการของโรคหัวใจขาดเลือดในคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญสาเหตุหนึ่ง เป็นภาวะที่หัวใจขาดเลือดมาเลี้ยงหรือเลือดไหลเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากผนังหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวและมีการตีบตัน ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาอุบัติการที่แน่นอน แต่จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีชาวอเมริกันหัวใจวายจากโรคนี้ปีละ 1.5 ล้านคน โดยที่ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เคยมีอาการนำมาก่อนและ 1 ใน 3 ของพวกที่มีอาการครั้งแรกนี้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต มีการคาดคะเนว่าเมื่อคนไทยรับวัฒนธรรมการกินอยู่ของประเทศทางตะวันตกกันมากขึ้น อุบัติการของโรคนี้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

เราสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราหรือลูกหลานได้หรือไม่

ข่าวดีก็คือเราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้สำหรับตัวเราเองหรือลูกหลานของเรา โดยการเสริมสร้างอุปนิสัยและพฤติกรรมการกินอยู่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าสามารถปลูกฝังได้ ตั้งแต่เด็กๆ ก็จะก่อให้เกิดผลดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมีมากมายหลายอย่าง บางอย่างก็หลีกเลี่ยงป้องกันได้ บางอย่างก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังต่อไปนี้
1. อายุและเพศ ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เร็วกว่าผู้หญิง และยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสจะเกิดโรคนี้ก็มากขึ้น
2. มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่ง เป็นโรคนี้ก่อนอายุ 55 ปีในผู้ชาย หรือ 65 ปี ในผู้หญิง อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคนี้จะสูงขึ้น
3. เป็นเบาหวาน เบาหวานบางชนิดจะเริ่มมีอาการตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น การวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่เริ่มแรกและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี จึงมีความสำคัญในการลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
4. การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคภัยหลายชนิด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองขาดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง พบว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีอัตราตายจากหัวใจวาย สูงกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2-4 เท่า ดังนั้นการอบรมลูกหลานของท่านให้เห็นพิษภัยของบุหรี่ และตัวท่านเองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ จึงมีความสำคัญมาก
5. ลักษณะการทำงานและการออกกำลัง พบว่าการทำงานนั่งโต๊ะจะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด 2 เท่า คนที่เฉื่อยชาไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวของร่างกายมีโอกาสจะเป็นโรคอ้วน ซึ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นการฝึกฝนให้ลูกหลานของท่านมีความว่องไว กระฉับกระเฉงและส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดอุบัติการของการเกิดโรคนี้ได้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
6. ความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เราอาจจะพบความดันโลหิตสูงในเด็กได้ ดังนั้น จึงควรให้ลูกหลานของท่าน ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง
7. ความอ้วนและระดับไขมันในเลือด พบว่า อาหารที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลสูง และมีกากน้อย จะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท หมูสามชั้น มันหมู กะทิ เนย เด็กที่มีน้ำหนักเกินพิกัด จะทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก รวมทั้งมีผลให้ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเป็นเบาหวานได้ง่าย จึงยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด การป้องกันไม่ให้อ้วนตั้งแต่เด็ก จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

สรุปแล้ว มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่เราสามารถควบคุมได้

เราสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดในลูกหลานของเราได้ดังนี้

1. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง
2. ดูแลไม่ให้สูบบุหรี่
3. ไม่ปล่อยให้อ้วนจนเกินไป และมีระดับโคเลสเตอรอลสูง
4. ส่งเสริมให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ทำไมการออกกำลังกายจึงมีความสำคัญสำหรับเด็ก

การที่ร่างกายของเด็กๆ มีการเคลื่อนไหว หรือการออกกำลังกายจะช่วยทำให้การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ให้มีความแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยให้
- ควบคุมน้ำหนักได้ดี
- ทำให้ความดันโลหิตปกติ
- ลดความเครียด
- เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่กระฉับกระเฉง
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนแต่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดทั้งสิ้น

พ่อแม่มีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูลูกๆ อย่างไรให้กระฉับกระเฉง

1. จำกัดเวลาดูโทรทัศน์และเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ไม่ให้เกินวันละ 2 ชั่วโมง พยายามส่งเสริมการออกกำลังกายในแต่ละวัน
2. วางแผนพาลูกๆ ไปเล่นกีฬาในวันหยุด เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเดินเล่นในสวนสาธารณะ
3. มอบหมายให้ลูกๆ ทำงานบ้านบางอย่างที่เหมาะสมกับวัย เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ทิ้งขยะ ตัดหญ้า ซึ่งนอกจากปลูกฝังนิสัยเรื่องความรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานอีกด้วย
4. สังเกตว่าลูกๆ ของท่านชอบเล่นกีฬาประเภทใด และพยายามส่งเสริมอย่างที่ชอบ แต่ให้สังวรณ์ไว้ว่า มีกีฬาบางอย่างที่เด็กๆ สามารถเล่นไปได้เรื่อยๆ จนเป็นผู้ใหญ่ เช่น เทนนิส ว่ายน้ำ ในขณะที่กีฬาที่เล่นเป็นทีม โอกาสที่จะเล่นเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะน้อยลง เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล
5. ให้ของขวัญที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา เช่น ไม้ปิงปอง ลูกฟุตบอล ไม้เทนนิส กางเกงว่ายน้ำ เป็นต้น
6. ใช้วิธีเดินหรือขี่จักรยานแทนการนั่งรถ ถ้าคิดว่าปลอดภัยเพียงพอ
7. หลีกเลี่ยงการใช้บันไดเลื่อนหรือลิฟท์ ให้เดินขึ้นบันไดแทน
8. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ ในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ