somkiat.jpgผศ.นพ.สมเกียรติ   โสภณธรรมรักษ์

บุตรหลานของท่านเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลังมีชื่อว่า  โรคหัวใจรูห์มาติก  เกิดจากคออักเสบจากเชื้อเบต้า - สเตร็บโตคอคคัส  กรุ๊ป  A โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้ กลืนน้ำกลืนข้าวจะเจ็บคอหรือทอนซิลเป็นหนอง ผลจากการติดเชื้อนี้ทำให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างขึ้นมาทำลายหัวใจของตนเอง  โดยบุตรหลานของท่าน อาจมีลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น บางรายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ขึ้นกับความรุนแรงของความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ


 
       
ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคนี้

     1.  โรคนี้สามารถกลับเป็นซ้ำได้ มีโอกาสมากกว่าคนธรรมดา 10-15  เท่า  แต่สามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้  โดยรับประทานยาป้องกันจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
     2.  ลิ้นหัวใจที่รั่วนี้   ถ้าหากเป็นไม่รุนแรงและได้รับยาป้องกันการกลับเป็นซ้ำสม่ำเสมอจะมีโอกาสกลับเป็นปกติได้  แต่ทั้งนี้ยังต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ตลอด
     3.  ถ้าหากผู้ป่วยกลับเป็นโรคเป็นซ้ำอีก  จะมีปัญหากับลิ้นหัวใจถูกทำลายมากขึ้น  เด็กจะยิ่งมีภาวะหัวใจวายมากขึ้น  เด็กอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจอันเป็นภาระที่ใหญ่หลวงต่อครอบครัวอย่างมาก ทั้งค่าใช้จ่ายและการดูแลในระยะยาว

ให้ท่านดูแลบุตรหลานของท่านดังนี้ 

       1.ควรได้รับยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) ป้องกันโรคกลับซ้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นยาฉีดเข้ากล้ามทุกเดือนหรือยากินซึ่งต้องกินทุกวัน ถ้าหากติดธุระในวันที่นัดฉีดยาให้ไปฉีดก่อนเวลาจะดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเหตุธุระอันใดก็ตามควรต้องได้รับการฉีดยาหรือการกินยาป้องกันเสมอ  ขอเน้นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
       2.  กินอาหารได้ทุกชนิด  ปรุงอาหารตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มเค็มอีก  หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด  เช่น  ไข่เค็ม  ปลาเค็ม  เกลือ  หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  พยายามเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  เนื้อ  นม  ไข่  ควรปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืช  ใช้การทอดหรือผัดจะทำให้ผู้ป่วยสมบูรณ์แข็งแรงและอ้วนท้วนดีขึ้น
       3.  ไม่ควรออกกำลังกายที่หนักเกินไป   ไม่ควรไปแข่งกีฬา
       4.  รับประทานยาที่แพทย์ให้ตามที่ซองยาเขียนไว้
           4.1  กรณีที่ได้ยาขับปัสสาวะด้วย   ควรรับประทานผลไม้มากขึ้น   เช่น  กล้วย  ส้ม  สับปะรด  เป็นต้น
           4.2  ในระหว่างที่รับประทานยา  ถ้ามีอาการชีพจรเต้นไม่ปกติ  คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น ให้หยุดยาไว้ก่อนและรีบพบแพทย์
           4.3  ไปพบแพทย์ที่ใดก็ตามให้นำซองยาที่บุตรหลานท่านกินอยู่ไปด้วยเสมอ
      5.  ลิ้นหัวใจของบุตรหลานท่านมีความขรุขระไม่เรียบเหมือนเด็กปกติ  จึงมีโอกาสติดเชื้อที่หัวใจได้ง่าย  เชื้อเหล่านี้มักมาจากในช่องปาก   ถ้าหากจำเป็นต้องไปทำฟันหรือตรวจเพิ่มเติมใด ๆ  ที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าตัวผู้ป่วย  ให้บอกแพทย์ผู้ดูแลเสมอ  จะได้รับยาป้องกันการติดเชื้อโรคที่หัวใจเพิ่มเติม   ซึ่งจะเป็นยาคนละชนิดกับยาที่ผู้ป่วยได้รับเป็นประจำ
      6.  ดูแลฟันให้ดี
            -  แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
            -  พาบุตรหลานท่านไปตรวจเช็คฟันอย่างน้อยปีละครั้ง
            -  หลีกเลี่ยงขนมหวานลูกกวาด  ถ้าจะกิน ต้องแปรงฟันหลังกินเสร็จทันทีหรือบ้วนปากแรง ๆ
            -  กินฟลูออไรด์ตามที่แพทย์แนะนำ โดยปรึกษาทันตแพทย์ที่ชุมชนของท่าน
      7.  รับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ  ได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป