การตั้งครรภ์ในผู้ป่่วยโรคหัวใจ
อ.นพ.สุนทร ม่วงมิ่งสุข

เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหัวใจได้รับการรักษาที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น จากทารกไปเป็นเด็กโต จากเด็กโตเป็นวัยรุ่น และจากวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยทำงาน และหวังที่จะมีชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติทั่วไป อยากเรียนหนังสือ อยากเล่นกีฬา อยากมีเพื่อน อยากมีครอบครัว อยากมีบุตรที่น่ารัก และอยากมีความมั่นคงในชีวิตทั้งของตนเองและครอบครัว แต่ด้วยความที่ตนเองมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวตั้งแต่เกิด ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตอาจจะแตกต่างจากคนรอบข้างได้บ้าง

การตั้งครรภ์

เมื่อมีการตั้งครรภ์ โดยปกติร่างกายของมารดาจะมีปริมาณโลหิตเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 50% ในกลางไตรมาสที่ 2 หัวใจต้องสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้นและยังมากขึ้นไปอีกในขณะคลอด ปริมาณโลหิตและการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ จะกลับมาเป็นปกติประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ผู้ป่วยโรคหัวใจ หัวใจต้องทำงานหนักกว่าคนปกติอยู่แล้ว เมื่อตั้งครรภ์ หัวใจยิ่งต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลวลงไปกว่าเดิม ดังนั้นการที่ผู้ป่วยโรคหัวใจปรารถนา จะมีบุตรควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

ต่อไปนี้เป็นเพียงหลักเกณฑ์ทั่วไป ที่อาจจะใช้พิจารณาว่าผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่

ผู้ป่วยโรคหัวใจที่สามารถตั้งครรภ์ได้

1. ลิ้นหัวใจรั่วไม่มาก และมีการบีบตัวของหัวใจเป็นปกติ
2. ลิ้นหัวใจตีบไม่มาก
3. ผนังหัวใจรั่วขนาดเล็กหรือขนาดปานกลางทำให้มีเลือดจากหัวใจห้องซ้ายไหลมายังหัวใจห้องขวา โดยที่มีความดันโลหิตในปอดเป็นปกติ
4. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดในการนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้ามาก (congenital complete heart block)
5. ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแต่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว หัวใจปกติดี

ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงต่อมารดาและบุตรเมื่อมีการตั้งครรภ์

1. ผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของหัวใจผิดปกติ
2. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตในปอดสูง
3. ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดเขียว
4. ผู้ป่วยที่มีหัวใจข้างซ้ายผิดปกติจากการตีบตัน (left sided heart obstruction)
5. ผู้ป่วยมาร์แฟนซินโดรม (Marfan syndrome) ซึ่งจะมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกายทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกายขยายตัวและอาจมีลิ้นหัวใจรั่วได้
6. ผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างร้ายแรง

ผู้ป่วยโรคหัวใจที่แนะนำให้ทำแท้งถ้ามีการตั้งครรภ์เนื่องจากมีอันตรายต่อมารดา

1. ความดันโลหิตในปอดสูงมาก
2. หัวใจวายอย่างมาก (class III & IV) ออกแรงนิดหน่อย หรืออยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย
3. มีการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายผิดปกติอย่างมาก
4. ผู้ป่วยมาร์แฟนซินโดรม (Marfan syndrome) ซึ่งมีหลอดเลือดแดงใหญ่ขยายตัวผิดปกติ