สาเหตุโรคหัวใจในเด็ก
ศ.นพ.จุล ทิสยากร

  ในการพิจารณาถึงโรคแต่ละชนิด สิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย จนทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ซึ่งถ้าความผิดปกติมีมากพอ ก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆ สิ่งที่เป็นต้นเหตุต่างๆเหล่านี้ได้แก่

1. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค เช่น ตัวแบคทีเรียในโรคติดเชื้อ
2. สิ่งแวดล้อม เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
3. ตัวบุคคล

จะเห็นได้ว่าในโรคใดโรคหนึ่ง ถ้าสิ่งที่ทำให้ เกิดโรคและสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ความรุนแรงของแต่ละโรคจะขึ้นกับตัวบุคคลที่เป็นโรคนั้นๆ และสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเป็นโรคหรือความรุนแรงของโรคในบุคคลคนนั้นได้แก่พันธุกรรมที่ปกติหรือผิดปกติ

  ความผิดปกติทางพันธุกรรม อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ทั้งทางกายภาพ ตั้งแต่บุคคลนั้นยังเป็นตัวอ่อน หรือทารกในครรภ์มารดาอยู่ หรือความผิดปกติทางสรีรวิทยา ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีอาการแสดงต่างๆ ของโรคแต่ละชนิด ซึ่งรวมถึงโรคต่างๆ ทางหัวใจและหลอดเลือดด้วย

  ความผิดปกติทาง พันธุกรรมสามารถถ่ายทอดไปสู่สมาชิกในครอบครัว ที่อยู่ในชั่วอายุต่อๆไปได้ สิ่งที่ช่วยบอกได้ว่า อาจมีโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือพันธุกรรม ได้แก่ ประวัติในครอบครัวที่มีบุคคลอื่น ซึ่งมีอาการและสิ่งตรวจพบ เช่นเดียวกับผู้ป่วย แพทย์มีความจำเป็นต้องทราบรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และรู้ถึงต้นเหตุของโรค ข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ ในการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม เช่น การตอบคำถามว่าถ้าพ่อแม่คู่นั้นมีบุตรคนหนึ่งที่เป็นโรคแล้ว ถ้าแม่ตั้งครรภ์อีก บุตรคนที่สองจะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคเท่าไร หรือถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง เป็นโรคแต่กำเนิด บุตรที่เกิดมาจะมีอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคแต่กำเนิดเท่าไร

  สาเหตุของโรคหัวใจในเด็กก็เช่นเดียวกับสาเหตุของโรคอื่นๆ คือ ขึ้นกับสิ่งต่างๆดังกล่าวแล้วข้างต้น ไม่ว่าโรคหัวใจในเด็กจะเป็นโรคหัวใจชนิดที่เป็นแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลังเกิด โรคต่างๆ เหล่านี้ก็จะเกิดจากสิ่งที่ทำให้เกิดโรค สิ่งแวดล้อม และตัวบุคคล

โรคหัวใจแต่กำเนิด

สาเหตุของโรคหัวใจแต่กำเนิดได้แก่

1. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งอาจจะเป็นพวกเชื้อโรคต่างๆ หรือสารต่างๆ เช่น ยา สารเคมี ฮอร์โมน สิ่งเสพติด รังสี เป็นต้น ตัวอย่างของสาเหตุโรคหัวใจแต่กำเนิด ที่พบว่าเกิดจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ ได้แก่ ขณะที่แม่ตั้งครรภ์แล้ว แม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ยาที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจแต่กำเนิด ได้แก่ ยาบ้า ยากันชักบางชนิด ฮอร์โมนทางเพศ และเหล้า เป็นต้น

2. สิ่งแวดล้อม เช่น แม่ที่เป็นเบาหวานแล้วตั้งครรภ์ แม่ที่เป็นโรคลุปัส อีริธธีมาโตซัส เป็นต้น บุตรที่คลอดจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าเด็กที่แม่ปกติ

3. ตัวบุคคล ในที่นี้หมายถึงตัวเด็กเอง ซึ่งการที่จะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดหรือไม่ ขึ้นกับการที่ เด็กคนนั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่ ถ้าเด็กคนนั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกตินั้น อาจจะทำให้เด็กมีความผิดปกติของหัวใจโดยตรง หรือมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อระบบอื่นๆ ซึ่งจะทำให้มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ หรือ มีความผิดปกติชนิดเป็นกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ หรือมองโกล ซึ่งมีความผิดปกติของระบบต่างๆหลายระบบ เช่น สมอง เลือด ทางเดินอาหาร และประมาณเกือบครึ่งหนึ่งจะมีโรคหัวใจแต่กำเนิดร่วมด้วย

โรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวกับพันธุกรรม

แบ่งได้เป็น

1. ความผิดปกติของโครโมโซมซึ่งอยู่ในเซลล์

ความผิดปกติของโครโมโซมซึ่งอยู่ในเซลล์ และเป็นที่อยู่ของหน่วยถ่ายพันธุกรรมซึ่งมีประมาณ 50000-100000 ในคน คนมีโครโมโซม 23 คู่ และ 1 ใน 23 คู่ เป็นโครโมโซมเพศซึ่งอาจจะเป็น X หรือ Y ถ้าเป็นเพศหญิงจะเป็น X สองตัว และถ้าเป็นเพศชายจะเป็น X และ Y อย่างละหนึ่งตัว เด็กที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดที่มีความผิดปกติของโครโมโซมพบร้อยละ 5-10 ของโรคหัวใจแต่กำเนิดทั้งหมด เด็กเหล่านี้มักจะมีความผิดปกติของระบบอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วยเป็นกลุ่มอาการต่างๆ สำหรับความผิดปกติของโครโมโซม อาจจะเนื่องจากจำนวนผิดปกติคือเพิ่มขึ้นหรือลดลง มีการขาดไปแล้วเชื่อมเข้าที่ใหม่ของโครโมโซม มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหน่วยถ่ายพันธุกรรม

2. ความผิดปกติของหน่วยถ่ายพันธุกรรมตัวเดียว

ความผิดปกติของหน่วยถ่ายพันธุกรรมตัวเดียว เป็นต้นเหตุเพียงร้อยละ 3 ของโรคหัวใจแต่กำเนิด ปัจจุบันนี้ มีโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดจำนวนมาก ที่สามารถบอกได้ถึงตำแหน่งต่างๆ ของหน่วยถ่ายพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค และแผนที่พันธุกรรมของตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นกายวิภาคที่ผิดปกติของหน่วยถ่ายพันธุกรรมของมนุษย์ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคกลุ่มนี้ จากชั่วอายุหนึ่งไปยังอีกชั่วอายุหนึ่ง เช่น จากรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูก อาจจะเป็นแบบเด่นหรือแบบด้อยก็ได้ หรืออาจจะถ่ายทอดโดยผ่านทางโครโมโซมเพศ

2.1 การถ่ายทอดแบบด้อย
การถ่ายทอดแบบด้อย มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือเป็นในชั่วอายุเดียว เป็นในเพศชายและหญิงเท่าๆกัน ทั้งบิดาและมารดา ไม่มีอาการแสดงของโรคนั้นๆ แต่จะมีความผิดปกติของโรคนั้นแฝงอยู่ในโครโมโซม บุตรทั้งหมดที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคร้อยละ 25 ร้อยละ 50 จะมีความผิดปกติแฝงอยู่ในโครโมโซมแต่ไม่เป็นโรค ส่วนอีกร้อยละ 25 จะปกติ

2.2 การถ่ายทอดแบบเด่น
การถ่ายทอดแบบเด่น มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ เป็นในหลายชั่วอายุ เป็นในเพศชายและหญืงเท่าๆกัน บิดาหรือมารดาผิดปกติเพียงคนเดียว แต่รุ่นลูกจะเป็นโรคร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 จะปกติ

2.3
การถ่ายทอดผ่านทางโครโมโซมเพศ
การถ่ายทอดผ่านทางโครโมโซมเพศ มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ ไม่มีการถ่ายทอด จากผู้ชายสู่ผู้ชาย บุตรสาวทุกคนของชายที่เป็นโรค จะมีความผิดปกติแฝงอยู่ในโครโมโซม บุตรชายของมารดาที่มีความผิดปกติแฝงอยู่ในโครโมโซมม ีโอกาสเป็นโรคร้อยละ 50 ส่วนบุตรสาวร้อยละ 50 มีโอกาสพบความผิดปกติแฝงอยู่ในโครโมโซม

3. ความผิดปกติที่เป็นโรคพันธุกรรมแบบปัจจัยร่วม

ความผิดปกติที่เป็นโรคพันธุกรรมแบบปัจจัยร่วม ซึ่งพบประมาณร้อยละ 90 ของโรคหัวใจ แต่กำเนิด โรคหัวใจที่เกิดจากพันธุกรรมแบบปัจจัยร่วมมักจะเป็นแบบผิดปกติชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ความผิดปกติชนิดนี้ เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง หน่วยถ่ายพันธุกรรมหลายตัว กับสาเหตุทางสิ่ง แวดล้อมหลายอย่างร่วมกัน ความผิดปกติแบบนี้เกิดขึ้นโดยมีเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อไวรัสหรือยาไปรบกวนการก่อรูปของหัวใจในคน ที่มีหน่วยถ่ายพันธุกรรมผิดปกติ ทำให้เกิดโรคขึ้นในครอบครัว เดียวกัน แต่โอกาสที่จะเกิดโรคในรุ่นลูกจะมีไม่เกินร้อยละ 5-10 เท่านั้น เนื่องจากสาเหตุของโรคหัวใจข้อนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมาก การคำนวณโอกาสของการเกิดโรคจึงเป็นไปได้ยาก

แต่จากการศึกษาย้อนหลังสามารถคำนวณโอกาสของการเกิดโรคได้ เช่น ถ้ามีพี่คนหนึ่งเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด อัตราเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดในน้องคนถัดไป จะมีเพียงร้อยละ 1-4 เท่านั้น (โดย ทั่วไปเด็กที่ไม่มีพี่เป็นโรคหัวใจมีโอกาสเป็นโรคหัวใจร้อยละ 0.7) แม้ว่าอัตราเสี่ยงนี้จะไม่สูงแต่ถ้ามี พี่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดสองคนแล้ว อัตราเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และถ้ามีพี่หนึ่งคนและบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด อัตราเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดในบุตรคนต่อไปเท่ากับ ร้อยละ 15 (การที่มารดาเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดทำให้บุตรมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดมากกว่าการมีบิดาเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด) และถ้ามีพี่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด 3 คนแล้ว อัตราเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-20

ความรู้เหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพยากรณ์โอกาสของการเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดว่าจะมีมากน้อยเท่าไร

การให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม

หลักของการให้คำปรึกษาและแนะนำ เกี่ยวกับทางพันธุกรรม คือ แพทย์ผู้ที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำ จะแจ้งให้บิดาและมารดาของเด็ก ซึ่งเป็นโรคทราบถึงโรคที่เด็กเป็น ความรุนแรงของโรค อาการและอาการแสดง ซึ่งอาจจะมากหรือน้อย การพยากรณ์โรค การรักษาและผลการรักษา ผลกระทบที่อาจจะมีต่อครอบครัวในด้านต่างๆ เช่น จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ วิธีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อัตราเสี่ยงของการเป็นโรคเดียวกันในบุตรคนต่อๆไป การวางแผนครอบครัว ความเป็นไปได้ของการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ เป็นต้น

แพทย์จะให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แก่บิดามารดาของเด็ก ในรูปของการให้แต่เฉพาะข้อมูล โดยไม่ให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ การตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆ ควรเป็นหน้าที่ของทั้งบิดาและมารดาของเด็กผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลโดยละเอียดจากแพทย์ และรากฐานต่างๆของตัวบิดาและมารดา ตั้งแต่ระดับการศึกษา การนับถือศาสนา ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี และฐานะของครอบครัว ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ข้อมูลที่สำคัญมากที่สุดที่ช่วยบอกถึงวิธีถ่ายทอดของโรคทางพันธุกรรม ได้แก่ ประวัติครอบครัว รวมทั้งเชื้อชาติของสมาชิกทุกคนในครอบครัว เพราะโรคบางโรคอาจจะพบเฉพาะในคนบางเชื้อชาติ เท่านั้น ข้อมูลต่างๆต้องพยายามให้ได้อย่างละเอียดที่สุด แล้วเขียนเป็นผังรายละเอียดของสมาชิกทุกคนในแต่ละชั่วอายุคน

ข้อมูลของสมาชิกในครอบครัว

1. ข้อมูลของสมาชิกในครอบครัว ควรพยายามสอบถามให้ได้จากญาติทุกระดับของเด็กที่เป็นผู้ป่วย ตั้งแต่ระดับบิดามารดา บุตร พี่น้อง ระดับญาติสนิทได้แก่ ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย หลาน ระดับญาติห่างๆได้แก่ ทวด เหลน
2. ถ้ามีผู้ที่เสียชีวิต ควรทราบด้วยว่า เสียชีวิตเมื่ออายุเท่าไร ด้วยสาเหตุอะไร
3. ประวัติการแต่งงานระหว่างสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน อาจเป็นต้นเหตุของโรคที่ถ่ายทอดโดยผ่านโครโมโซมแบบด้อย
4. ประวัติอย่างอื่นที่สำคัญ ได้แก่ สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคชนิดเดียวกับเด็กผู้ป่วย ประวัติความพิการแต่กำเนิด ปัญญาอ่อน ตายตั้งแต่ยังเป็นทารก ตายคลอด แท้ง ส่วนข้อมูลของโรคที่เกี่ยวข้องนั้น แพทย์ผู้จะให้คำปรึกษาต้องซักถามถึงอาการและอาการแสดงของโรคนั้นๆโดยละเอียด เพราะสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคแต่ละคนอาจจะมีอาการหรืออาการแสดงบางอย่างเท่านั้น

ประวัติที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ ประวัติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์โดยละเอียด เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาขณะตั้งครรภ์ การดื่มเหล้าขณะตั้งครรภ์ โรคแทรกซ้อนต่างๆขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น ข้อมูลต่างๆที่ละเอียดเหล่านี้จะช่วยบอกได้ว่า โรคที่เด็กเป็นอยู่นั้นเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ หรืออาจเป็นโรคที่เกิดจากหลายๆสาเหตุ

แพทย์นอกจากจะต้องตรวจร่างกายเด็กที่เป็นผู้ป่วยแล้ว ยังต้องตรวจร่างกายสมาชิกในครอบครัวเท่าที่จะตรวจได้ด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ทำให้แพทย์สามารถบอกการพยากรณ์โรค และอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคในบุตรคนต่อไปได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับบิดามารดาที่มีบุตรที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดอยู่แล้ว ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติอย่างไรตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวต่อไป

การป้องกันโรคหัวใจแต่กำเนิด

การป้องกันโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้นทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นโรคพันธุกรรมแบบปัจจัยร่วมนั้นเป็นสาเหตุกลุ่มใหญ่ของโรคหัวใจแต่กำเนิด และส่วนใหญ่แพทย์ก็ไม่สามารถบอกว่าปัจจัยร่วมประกอบด้วยอะไรบ้าง จึงเป็นกลุ่มที่ถือได้ว่าไม่สามารถป้องกันอย่างได้ผล อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การป้องกันโรคหัวใจแต่กำเนิดทำได้โดย

1. หลีกเลี่ยงการแต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน
2. สตรีที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันมาก่อน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคหัดเยอรมันก่อนแต่งงาน
3. ควรฝากครรภ์ตั้งแต่แรกๆของการตั้งครรภ์
4. ถ้าตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงกายอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นโรคซึ่งติดต่อได้
5. ถ้าตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้งยาเสพติด บุหรี่ สุรา

สาเหตุของโรคหัวใจที่เป็นทีหลัง

1. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค
1.1 เชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ ตัวแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และพิษที่สร้างจากตัวแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียอาจทำให้เยื่อบุหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พิษของตัวแบคทีเรีย เช่น จากเชื้อโรคคอตีบ อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อไวรัสทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พยาธิบางชนิดก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อโรคบางตัวยังอาจเป็นตัวทำให้เกิดโรคเฉพาะบางโรค เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ทำให้เกิดโรคไข้รูมาติก ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคที่หัวใจได้ด้วย จนอาจทำให้ลิ้นหัวใจพิการ หรือที่เรียกว่า โรคหัวใจรูมาติก
1.2 ยาบางชนิดอาจเป็นต้นเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ หรือทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น เต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปจนอาจเกิดอันตราย
1.3 การขาดวิตามิน เช่น ขาดวิตามินบี 1 ทำให้เป็นโรคหัวใจได้
1.4 โรคบางอย่างที่ทำให้ไขมันสูงในเลือดจนเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้าม เนื้อหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
1.5 โรคที่ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซของระบบหายใจไม่เพียงพอ (รวมทั้งเด็กที่อ้วนมากๆ) จนทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น เด็กที่ต่อมทอนซิลโตมากๆจนทำให้หายใจไม่สะดวกก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้
1.6 โรคหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของโรคบางอย่าง เช่น โรคคาวาซากิ โรคลุปัส อีริธธีมาโตซัส โรคข้อรูมาตอยด์ ต่อมทัยรอยด์เป็นพิษ โรคไต โรคเลือด หรือโรคมะเร็งบางชนิดที่อาจลามมาที่หัวใจได้

2. สิ่งแวดล้อม
การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงมากๆจากระดับน้ำทะเลเป็นเวลานานๆอาจเป็น ต้นเหตุของโรคหัวใจได้ ที่อยู่อาศัยที่แออัดทำให้โรคบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจติดต่อไป ให้คนอื่นได้ง่ายขึ้น

3. ตัวบุคคล
เด็กบางคนอาจถูกกำหนดโดยพันธุกรรมให้เป็นโรคบางชนิด ง่ายกว่าเด็กอื่นๆ จะเห็นได้ว่า เด็กที่คอหรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อโรคสเตรปโตคอคคัสกลุ่มเอ มีเพียงร้อยละ 0.3-3 เท่านั้น ที่เกิดโรคไข้รูมาติกซึ่งเป็นต้นเหตุองโรคหัวใจรูมาติก

การป้องกันโรคหัวใจที่เป็นทีหลัง

1. ฉีดวัคซีนทุกชนิดให้ครบตามกำหนด
2. รับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่
3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากหรือเค็มมาก
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึ่งอาจติดต่อได้
5. เมื่อเจ็บป่วยควรรีบรับการตรวจรักษาจากแพทย์
6. เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังทุกชนิดควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

โดยสรุป การที่สามารถบอกสาเหตุต่างๆของโรคหัวใจในเด็กได้ เป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการให้การรักษาและด้านการป้องกัน แม้ว่าโรคบางชนิดที่มีต้นเหตุจากทางพันธุกรรมในปัจจุบันอาจจะยังไม่สามารถป้องกันอย่างได้ผล การแนะนำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกที่เป็นโรคบางชนิดหลีกเลี่ยงการแต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวเดียวกันก็อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ระดับหนึ่งสำหรับโรคบางชนิด หรือถ้าป้องกันไม่ได้จริง การรู้ข้อมูลโดยละเอียดแต่เนิ่นๆก็เป็นประโยชน์ต่อการช่วยวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้นเพื่อที่จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป